สารจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีปัจจัยลบและความเสี่ยงหลายด้าน เช่น การชะลอตัวต่อเนื่องของภาคส่งออกจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปีนี้จึงเป็นปีที่สำคัญในการวางแผนงานอย่างรัดกุมโดยการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดเพื่อประคองสถานการณ์และผลการดำเนินงานให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ให้ได้ ผมในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (“บริษัท”) ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้บริษัทยังคงรักษาสัดส่วนอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับที่คาดหมายไว้ด้วย 2 กลยุทธ์ที่สำคัญ คือการรักษาความมั่นคงของบริษัทเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าโดยการรักษามาตรฐานการให้บริการต่อลูกค้า และการสร้างโอกาสเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนโดยศึกษาธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสความเป็นไปได้เพื่อรองรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า

เพื่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานกาณ์ข้างต้น ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ติดตามผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมอบหมายให้ C-level ทั้ง 3 ท่านประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ความต้องการของลูกค้า บริหารงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานของบริษัท รวมถึงการบริหารต้นทุนและระยะเวลาการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าใหม่ที่ อ.บางกระดี จ.ปทุมธานี และ ต.บึง จ.ชลบุรี เพื่อให้เสร็จทันเวลาและเปิดให้บริการตามกำหนดในปี 2567 ตลอดจนได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ในการประชุมเสนอแผนงานประจำปีของบริษัท เพื่อปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็ว ทันสมัย ลดต้นทุนรองรับกลยุทธ์และแผนธุรกิจของบริษัทได้ทันเวลา

แผนลงทุนมุ่งสู่ความหลากหลายและยั่งยืน

บริษัทมีนโยบายลงทุนอย่างรอบคอบ มุ่งเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงในระยะยาว เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

โดยในปี 2566 มีการดำเนินงานที่สำคัญดังนี้

  • เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติลงทุนร้อยละ 51 ของหุ้นสามัญในบริษัท ซิโนเปค นามยง ทรานสปอร์ตเทชั่น จำกัด (“SNT”) ซึ่งดำเนินธุรกิจบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า โดยปัจจุบัน SNT ยังไม่เริ่มดำเนินธุรกิจ
  • ในปี 2566 ท่าเรือ A5 ของเราสร้างสถิติสูงสุดใหม่ด้วยปริมาณรถยนต์ส่งออกและนำเข้าผ่านท่าเรือ A5 แตะถึงจำนวน 1,056,677 คันสูงสุดในช่วง 20 ปีสะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานและความไว้วางใจจากลูกค้า
  • บริษัทเสริมความแกร่งให้มั่นคงขึ้นอีกโดยการต่อยอดธุรกิจด้วยการให้บริการจัดเก็บสินค้าและคลังสินค้าบนพื้นที่กว่า 342,474 ตารางเมตร พร้อมเตรียมเปิดพื้นที่เพิ่มเติมอีก 56,825 ตารางเมตรในปี 2567 ที่ อ.บางกระดี จ.ปทุมธานี และ ต.บึง จ.ชลบุรี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น กลยุทธ์นี้ช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ

การบริหารภาวะวิกฤติและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP)

บริษัทได้แก้ไขแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อให้ครอบคลุมเหตุการณ์เลวร้ายทั้งหมดที่ระบุผ่านการประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก เช่น ภัยธรรมชาติ อัคคีภัย โรคระบาด ความปลอดภัยมั่นคงของข้อมูล เป็นต้น ในปี 2566 คณะกรรมการบริหาร ได้มีการทบทวน ปรับปรุงกระบวนการการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยวิเคราะห์ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในของกลุ่มสายปฏิบัติงานหลักและสายงานสนับสนุนเพื่อให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร รวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่มาจากการวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคโดยอ้างอิงเกณฑ์การวัดผลปัจจัยต่างๆจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อองค์กรทั้งในเชิงบวกและลบ และเพิ่มการวิเคราะห์แนวโน้ม การเกิดเหตุชะงักระดับสากล โดยระบุปัจจัย ความเสี่ยงหลักและปัจจัยที่เป็นโอกาสที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรในระยะสั้นและระยะยาวครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีเพื่อนำเข้ากระบวนการจัดทำแผนกลยุทธ์ และแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ

ความคืบหน้าด้านความยั่งยืน

ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายให้ได้รับการจัดอันดับ SET ESG rating จาก “A” เป็น “AA” เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการด้านความยั่งยืนองค์กรให้สู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ฝ่ายจัดการยังคงเน้นการสร้างจิตสำนึกในการทำงานเชิงรุกของพนักงานซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท โดยคำนึงถึงลักษณะพฤติกรรมการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen-Y) ตามผลการสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Engagement Survey) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญคือการพัฒนาขีดความสามารถบุคคลากรและเทคโนโลยีไม่ทันต่อการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต โดยเริ่มให้พนักงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ซึ่งนอกจากจะได้การพัฒนาทีมงานรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายจัดการได้ค้นหาผู้สืบทอดตำแหน่งงาน (Successor) อีกด้วย ในปี 2563 – 2565 บริษัทได้ปรับตำแหน่งพนักงานให้สูงขึ้น ดังนั้นในปี 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงและแต่งตั้งรายชื่อคณะทำงานเพื่อการบริหารความยั่งยืนองค์กรชุดใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่ได้เสนอแนวคิดใหม่ๆ และแสดงศักยภาพในการทำงานต่อไป

ตลอดเส้นทางของการเติบโตเรามุ่งมั่นที่จะก้าวไปพร้อมกับความรับผิดชอบในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอกผ่านการสร้างคุณค่าทั้ง 3 มิติคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการเติบโตของสังคมอย่างยั่งยืน สุดท้ายนี้ผมในนามของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขอขอบคุณผู้บริหารและพนักงานบริษัทตลอดจนลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจและผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ได้กรุณาให้ความเชื่อถือและไว้วางใจในการบริหารงานตลอดมา



ดร.เทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

“ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายให้ได้รับการจัดอันดับ SET ESG rating จาก “A” เป็น “AA” เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการด้านความยั่งยืนองค์กรให้สู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น”